Covering Disruptive Technology Powering Business in The Digital Age

image
‘บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์’ โชว์วิสัยทัศน์ ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร พร้อมส่งมอบคุณค่า สู่สังคมโลก เพื่อความยั่งยืน
image
กรกฎาคม 6, 2021 ข่าว

 

‘บมจ. โคลเวอร์ เพาเวอร์’ หรือ CV ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนแบบครบวงจร แถลงวิสัยทัศน์เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ และการเติบโต ด้วยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน พร้อมนำความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมพลังงานที่มี ผสานกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาดเพื่อส่งมอบคุณค่าจากพลังงานหมุนเวียนสู่สังคม และเดินหน้าเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สอดรับนโยบายสร้างความมั่นคงทางพลังงานตามแผน PDP 2018 เพื่อผลักดันให้ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 77,211 MW และ แผน AEDP2018 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 29,411 MW ภายในปี 2580

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CV ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรมการออกแบบครบวงจร เปิดเผยว่า จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) ทำให้ภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมในหลายประเทศตระหนักถึงปัญหาก๊าซเรือนกระจกของโลก จึงได้นำไปสู่ความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานสำหรับอนาคต รวมถึงภาคธุรกิจต้องมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น สะท้อนจากภาพรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก ณ สิ้นปี 2562 มีกำลังการผลิตติดตั้งทั่วโลกจำนวน 2,532 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตติดตั้งใหม่จำนวน 177 กิกะวัตต์ เพิ่มร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และภูมิภาคที่มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนสูงสุดติด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.) ภูมิภาคเอเชียมีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,119 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.2 ของกำลังการผลิตทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 95.0 กิกะวัตต์ 2.) ยุโรปมีกำลังการติดตั้ง 573 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.6 ของกำลังการผลิตทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 36 กิกะวัตต์ และ 3.) อเมริกาเหนือมีกำลังการติดตั้ง 391 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.4 ของกำลังการผลิตทั่วโลก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 22 กิกะวัตต์

ส่วนภาคอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย มีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการพัฒนาพลังงานทั่วโลก ที่มุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในทุกภาคส่วน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Revision 1) ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้มีความมั่นคงในระดับที่เหมาะสม มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมพลังงานทดแทน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำกับดูแลกลไกตลาดพลังงานให้แข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ทำให้ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่จำนวน 56,431 เมกะวัตต์ ซึ่งมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเอกชนจำนวน 18,696 เมกะวัตต์ รองรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 2580

ประธานกรรมการ CV กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) โดยเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งหมด 29,411 เมกะวัตต์ภายในปี 2580 ที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเติบโต ซึ่งจากแผน PDP และแผน AEDP กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายด้านราคารับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้ระบบ Feed-in Tariff (FiT) สะท้อนมูลค่าต้นทุนที่แท้จริงของโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภท มีระยะเวลารับซื้อตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (อายุสัญญา 20 ปี) ซึ่งตั้งแต่ปี 2567 ประมาณการค่าไฟฟ้าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่ 3.58 บาทต่อหน่วย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน โดยคาดว่ารัฐกำหนดราคารับซื้อเบื้องต้นที่อัตรา 3-5 บาทต่อหน่วย

(0)(0)