Covering Disruptive Technology Powering Business in The Digital Age

image
บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) นำเสนอ ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อดูแลสุขภาพผู้มีภาวะเบาหวาน ครั้งแรกในประเทศไทย
image
กุมภาพันธ์ 3, 2021 ข่าว

 

“บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด แผนกธุรกิจเบาหวาน” แนะนำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีศักยภาพและความสามารถในการปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ด้วยวิธีการรักษาแบบองค์รวมที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษา โดยมีเป้าหมายในการจัดการภาวะเบาหวานเฉพาะบุคคล และมีเป้าหมายหลักในการปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลรักษาและอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

ดิจิทัลแพลตฟอร์มของ “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์ (Roche Diabetes Care) จะทำหน้าที่รวบรวมและเก็บข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทั้งหมดที่มาจากระบบให้บริการต่างๆ ของโรชฯ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรวบรวมและใช้ประโยชน์จากโซลูชันของตนเองและคู่ค้าได้ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเปิดใช้งานบริการวิเคราะห์และสร้างข้อมูลเชิงลึกจากโซลูชันที่ทำงานบนแพลตฟอร์มและให้บริการผู้มีภาวะเบาหวานเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิผล และในอนาคตอันใกล้นี้ ดิจิทัลแพลตฟอร์มของ

โรชฯ จะสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาเพื่อผู้มีภาวะเบาหวานโดยเฉพาะ  ซึ่งระบบจะช่วยแจ้งเตือนข้อมูลที่สำคัญต่างๆ ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า ในขณะเดียวกันทีมแพทย์ก็จะสามารถตรวจสอบและวินิจฉัยอาการได้จากซอฟต์แวร์ที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์

มร. มิไฮ อีริเมสซู (Mr.Mihai Irimescu) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค) บริษัทโรชไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัดแผนกธุรกิจเบาหวานกล่าวว่า “เรามีความภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอแนวคิดของ iPDM – integrated personalized Diabetes Management ระบบการจัดการภาวะเบาหวานแบบบูรณาการเฉพาะบุคคลสู่ตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางการดูแลแบบครบองค์รวมที่เน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยแนวคิดดังกล่าวจะใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคทั้งหมดไว้ในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกวิธีการในการรักษาได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม”

ทั้งนี้ แนวคิดของ iPDM ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำมาดูแลผู้มีภาวะเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิผล โดยงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้มีภาวะเบาหวานประเภทที่ 2 จำนวน 907 คน และแพทย์ 100 คน เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ประกอบด้วย 1) ผู้มีภาวะเบาหวานในกลุ่มควบคุมยังคงได้รับการดูแลตามมาตรฐานการรักษาเดิม  และ 2) ผู้มีภาวะเบาหวานในอีกกลุ่มได้รับการดูแลตามแนวทาง iPDM โดยผู้มีภาวะเบาหวานในกลุ่มนี้ จะได้รับคำแนะนำให้มีการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และนำผลระดับน้ำตาลที่ตรวจได้มาปรับเปลี่ยนการดูแลตนเองในเรื่องต่างๆ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมทั้งนำผลน้ำตาลที่ตรวจได้มาทำการวิเคราะห์กับแพทย์ โดยแพทย์จะวิเคราะห์ข้อมูลผลระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งในส่วนนี้แพทย์จะมีข้อมูลในการอธิบายคนไข้เรื่องการใช้ยา และการปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายในกลุ่ม iPDM

หลังจากผ่านไป 12 เดือนผู้ป่วยในกลุ่ม iPDM ประสบความสำเร็จในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นกว่าเดิม และแตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานการรักษาเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังสามารถลดระดับค่าน้ำตาลในเลือดได้มากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมตามปกติ และแพทย์รายงานว่าผู้ป่วยมีความสม่ำเสมอในการรักษาเบาหวานและมีความพึงพอใจต่อการรักษาเช่นเดียวกัน

 

ดิจิทัลแพลตฟอร์มโรชฯรองรับการแพทย์ทางไกลในประเทศไทย

ดิจิทัลแพลตฟอร์ม โรชฯ เริ่มมีการนำไปใช้งานในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีอัตราการใช้งานที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวให้บริการต่างๆ ครอบคลุมไปถึง การตรวจคัดกรองทางไกล การให้คำปรึกษาทางไกล การติดตามและฝึกสอนผู้ป่วยทางไกล เป็นต้น ปัจจุบัน โรชฯ  ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน เพื่อเชื่อมต่อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของโรชฯ เข้ากับแพลตฟอร์มในการดูแลผู้ป่วยทางไกลที่มีอยู่แล้ว

อาจารย์แพทย์หญิงณิชกานต์ หลายชูไทย แพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสมโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “ระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้มีภาวะเบาหวานให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ระบบจะแบ่งปันข้อมูลบนคลาวด์ช่วยให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้เร็วและแม่นยำขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางในการรักษาโดยคนไข้จะต้องเดินทางมาพบแพทย์ ไปสู่การดูแลรักษาเฉพาะบุคคลโดยที่คนไข้เป็นศูนย์กลางในการรักษา

นายแพทย์เอกพล พิศาล อายุรแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาขุน กล่าวว่า “ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้วงการแพทย์และการดูแลสุขภาพได้พลิกโฉมวิธีการรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ผู้ป่วยเริ่มเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองผ่านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ส่วนตัว ซึ่งสามารถแปลผลข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาได้ด้วยตนเอง ส่วนแพทย์ก็สามารถดูข้อมูลเชิงลึกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มการจัดการเบาหวานออนไลน์ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยลดระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล ทำให้แพทย์มีเวลาที่จะให้คำปรึกษากับผู้ป่วยได้เต็มประสิทธิภาพ”

เมื่อมีการเชื่อมต่อและเพิ่มข้อมูลเชิงลึกในการรักษาของผู้ป่วย ร่วมกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลของแพทย์ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดกระบวนการรักษาที่ครบวงจร เพราะผู้มีภาวะเบาหวานสามารถเข้าถึงบริการและดูแลตัวเองได้สะดวกสบาย ในขณะที่ข้อมูลของผู้มีภาวะเบาหวาน รวมทั้งอาการป่วยจากโรคอื่นๆ และประวัติการรักษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะถูกเก็บไว้ในระบบบันทึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดูแลรักษาในลำดับต่อไป เนื่องจากผู้มีภาวะเบาหวานในประเทศไทยจำนวนมากได้รับการรักษาอันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน

มร. มิไฮ อีริเมสซู  (Mr.Mihai Irimescu) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค) บริษัทโรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัดแผนกธุรกิจเบาหวานกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ “โรชฯ แผนกธุรกิจเบาหวานของเรา เล็งเห็นว่าการแพร่กระจายของ COVID-19 ทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่งโรชฯ มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้มีภาวะเบาหวานในประเทศไทย รวมทั้งระบบการดูแลสุขภาพและสังคมโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

(0)(0)