Covering Disruptive Technology Powering Business in The Digital Age

image
วิศวะมหิดล จัดโครงการ “จิตอาสาพัฒนาระบบ Smart Farm เพื่อเกษตรอัจฉริยะ” แก่ ร.ร. คลองบางกระทึก
image
กรกฎาคม 30, 2021 ข่าว

 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม (ESR) และ ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จัดโครงการ จิตอาสาพัฒนาระบบ Smart Farm เพื่อเกษตรอัจฉริยะให้แก่โรงเรียนคลองบางกระทึกโดยมี นายเจน เกิดโพชา ผู้อำนวยการโรงเรียน คลองบางกระทึก พร้อมด้วยคณะครูอาจารย์และเยาวชนนักเรียนเข้าร่วมงาน ในงานมีการให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ เรื่อง “Smart Farm เกษตรอัจฉริยะ” วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและฝึกทักษะให้บุคลากรและครูได้เรียนรู้การประยุกต์และใช้งานระบบ Smart Farm เกษตรอัจฉริยะ การรดน้ำแปลงผักและประหยัดพลังงานด้วยระบบโซล่าเซลล์ พร้อมกันนี้ได้ส่งมอบระบบแอปพลิเคชัน Smart Farm แก่โรงเรียนคลองบางกระทึก จำนวน 1 ระบบ อีกด้วย

ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม (ESR) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการ จิตอาสาพัฒนาระบบ Smart Farm เพื่อเกษตรอัจฉริยะแก่โรงเรียนคลองบางกระทึก เป็นการต่อยอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง จากที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปช่วยพัฒนาจักรยานปั่นน้ำ โดยใช้โซลาเซลล์สำหรับนักเรียนโรงเรียนคลองบางกระทึก โดยโครงการ Smart Farm เพื่อเกษตรอัจฉริยะ ในครั้งนี้ ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะและตระหนักรู้ถึงการพัฒนาความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกการคืนสิ่งดีมีคุณค่าสู่สังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ คุณสมเกียรติ พรมตุ้ม จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นวิทยากร

ระบบสมาร์ทฟาร์ม เป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่โดยนำนวัตกรรมเทคโยโลยีมาใช้ประโยชน์ สร้างภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการนำข้อมูลภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นที่ย่อย ระดับไร่ และระดับมหภาค มาใช้ในการบริหารจัดการดูแลพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและพัฒนาภาคเกษตรให้ยั่งยืนในอนาคต และเป็นการนำเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยสามารถควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เช่น ควบคุมการเปิด-ปิด วาล์วน้ำ สำหรับรดน้ำได้ เป็นต้น ช่วยลดภาระงานหนักและทำให้ควบคุมดูแลทั่วถึง เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิตและได้ผลกำไรมากขึ้น

ที่มา: บริษัท เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

(0)(0)